ประวัติความเป็นมาของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

            เดิม "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ตั้งอยู่บนพื้นที่ “วังรพีพัฒน์”  ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า รพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ ซื้อที่ต่อจากราษฎร จำนวน ๑๐ ราย เป็นเงิน ๒๙๖ ชั่ง ๓๖ บาท และพระยานรฤทธิราชหัชถวายโดยไม่คิดราคาอีกรายหนึ่ง รวมเป็นที่ ๑๑ ราย เนื้อที่ด้านเหนือยาว ๔ เส้น ๑๒ วา ๑ ศอก ด้านใต้ยาว ๔ เส้น ๑๓ วา ๒ ศอก ด้านตะวันออกยาว ๕ เส้น ๑๒ วา ด้านตะวันตกยาว ๔ เส้น ๕ วา หลังจากที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์สิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ดินพร้อมวังรพีพัฒน์แห่งนี้จึงตกเป็นสมบัติของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากนั้น เอกชนได้ขอเช่าที่ดินเพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษาชื่อ “โรงเรียนรพีพัฒน์” กิจการของโรงเรียนดำเนินการอยู่ได้ไม่นานก็เลิกไป ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขอซื้อต่อเพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างโรงงานผลิตร่ม  จากนั้นจึงพัฒนาเป็นสถานศึกษาผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ดังความเป็นมาต่อไปนี้

            พ.ศ. ๒๔๙๕ กรมอาชีวศึกษา ได้ขอซื้อต่อจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในวงเงิน ๓,๙๐๕,๐๐๐ บาท เพื่อ เป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา” มีสิ่งก่อสร้างประกอบด้วย ตึกหลังใหญ่อันเป็นที่ตั้ง “วังรพีพัฒน์” ๑ หลัง อาคารหลังเล็ก ๑ หลัง ห้องแถวไม้ริมถนนสามเสนจำนวน ๑๘ ห้อง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) โรงงานขนาดยาว ๑ หลัง และโรงงานขนาดเล็ก ๑ หลัง

            พ.ศ. ๒๔๙๖ มีการจัดสร้างอาคารเรียนเป็นตึก ๒ ชั้น ๑ หลัง ความยาว ๖๔ เมตร ทางด้านขวามือตรง ทางเข้าโรงเรียน สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมอาชีวศึกษาได้ขอซื้อที่ดิน จากกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน ๙ ไร่ ๔๗ ตารางวา เป็นเงิน ๓,๙๐๕,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา ดังนั้น โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาก็คือจุดกำเนิดของวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา

            พ.ศ. ๒๔๙๗ โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาได้รับงบประมาณเพื่อต่อเติมอาคารเรียนตึก ๒ ชั้น ที่สร้างเอาไว้ แล้วเพิ่มความยาวออกไปอีก ๔๔ เมตร, ซ่อมแซมตึกวังรพีพัฒน์เดิมที่ชำรุด, ทำรั้วและถนนภายใน, ย้ายห้องแถวที่ ด้านหน้าออกไป, และปลูกสร้างบ้านพักภารโรง

            พ.ศ. ๒๔๙๘ โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา ได้โอนย้ายไป สังกัดกรมการฝึกหัดครู เปิดสอนหลักสูตร ป.กศ.อาชีวศึกษา

            พ.ศ. ๒๕๐๕ โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา ได้โอนย้ายมาสังกัด กรมอาชีวศึกษา พร้อมยกฐานะเป็น วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยจัดการเรียนการสอน ๗ แผนก คือ ช่างไม้ครุภัณฑ์ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุและโทรคมนาคม ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมและโลหะ แผ่น และช่างยนต์ เพื่อผลิตนักศึกษาหลักสูตร ๒ ปี ระดับประกาศนียบัตรฝึกหัดครู-มัธยม (ปม.อ.)

            พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีการลงนามกู้เงินระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารโลก ณ สำนักงานธนาคารโลก กรุง วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่า “โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา” ระยะแรกมีกำหนด ๕ ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๔ และมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรประโยคครูมัธยมวิชาชีพชั้นสูง (ปม.วส.) ตาม นโยบายพัฒนาครูอาชีวศึกษาของกรมอาชีวศึกษา จากนั้นได้ดำเนินการยุบรวมช่างไม้ครุภัณฑ์กับช่างก่อสร้าง และได้ขยายหลักสูตรจาก ๒ ปี เป็น ๓ ปี

            พ.ศ. ๒๕๑๑ วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ วังรพีพัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ถูกรื้อถอนลงจนหมดสิ้น

            พ.ศ. ๒๕๑๘ วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา เปิดสอนหลักสูตร ปวส. ให้นักศึกษา ปม.วส. เฉพาะรุ่นปีการศึกษา ๒๕๑๗ และ ๒๕๑๘ และเปิดสอนระดับปริญญาตรี โดย “คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี” เปิดสอนระดับปริญญาตรี ๒ สาขา คือ สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสาขาวิศวกรรมศาสตร์

            พ.ศ.๒๕๒๐ วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา โอนย้ายมาสังกัดกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา  ใช้ชื่อ “วิทยา เขตเทเวศร์” เปิดสอนระดับ ปวส.

            พ.ศ. ๒๕๒๑ วิทยาเขตเทเวศร์ เปิดสอนหลักสูตร ปม. ช่างอุตสาหกรรม

            พ.ศ. ๒๕๒๔ วิทยาเขตเทเวศร์ ได้ยุบการผลิตนักศึกษาระดับ ปวส. ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อเร่งรัดผลิตนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสาขาวิศวกรรมศาสตร์

            พ.ศ. ๒๕๒๖ วิทยาเขตเทเวศร์ งดรับนักศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี โดยเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในนาม คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี

            พ.ศ. ๒๕๓๐ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จัดตั้งขึ้นบนพื้นที่ คลองหก ฝั่งตะวันตก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๖๑๐-๓-๔๑ ไร่ และบนพื้นที่ ตำบลคลอง รังสิตฝั่งเหนือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๑๐๙-๓-๐๔ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๗๒๐-๒-๕๕  ไร่ เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญา โดยได้ขอพระราชทานเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ วางศิลาฤกษ์ ศูนย์กลางการศึกษา ระดับปริญญาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาในวันอังคารที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๐๙ น. 

            พ.ศ. ๒๕๓๑ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสถาบันว่า“ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” แปลว่า“ สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมงคลแห่งพระราชา” เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ หมายความว่าชาวราชมงคลทุกคนตั้งแต่คณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทรงถือว่าเป็นมงคลแห่งพระองค์ท่าน เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิต“ บัณฑิตนักปฏิบัติ " รับใช้สังคมเป็นที่ยอมรับถึงศักยภาพของบัณฑิตตลอดมา

            พ.ศ. ๒๕๓๔ วิทยาเขตเทเวศร์  คณะวิศวกรรมเทคโนโลยี  ลดการผลิตนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรมลง และเพิ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ตามความต้องการของตลาดแรงงาน  ในขณะนั้น

            จากการที่ประเทศไทยได้ปรับแนวทางการพัฒนาประเทศ จากการเน้นผลผลิตในภาคเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมนั้น ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนที่เป็นแรงงานระดับกลาง คือ ช่างฝีมือ และช่างเทคนิค ขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อทำหน้าที่เป็นกำลังผลิตของอุตสาหกรรม ภาวะการขาดแคลนนี้ได้เพิ่มทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขาดแคลนกำลังคนดังกล่าวนี้ มีทั้งลักษณะการขาดแคลนบุคลากรในสาขาที่มีการผลิตอยู่แล้ว และในสาขา ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีการผลิตเพราะเทคโนโลยีชนิดนี้เพิ่งจะมีและเริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยไม่นานนัก
            รัฐบาลได้พยายามแก้ไขภาวะการขาดแคลนกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมมาตลอด ในระดับ วิศวกร และนักเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขภาวะการขาดแคลน โดยการเพิ่มกำลัง การผลิตทั้งในสถาบันของรัฐและเอกชน
            การดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน ได้มุ่งไปที่การขยายกำลังการผลิต และการเพิ่มปริมาณสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยเทคนิคเป็นสำคัญ ทำให้แผนการเพิ่มกำลังการผลิตช่าง เทคนิคและบุคลากร เพื่ออุตสาหกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลไม่ประสบความ สำเร็จเท่าที่ควรและล่าช้าออกไป ก็คือ การขาดแคลนครูช่างในสาขาวิชาเอกต่าง ๆ อย่างรุนแรง ในปัจจุบันอันส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจากการขาดแคลนวิศวกร ครูช่างที่มีอยู่และที่ผลิตได้ใน แต่ละปีจากสถานศึกษาเพียง ๔ แห่ง ได้เข้าทำหน้าที่วิศวกรไปเป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงส่วนน้อย ที่ประกอบอาชีพเป็นครู

            พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลได้มอบหมายให้ทบวงมหาวิทยาลัยศึกษาลักษณะสภาพการขาดแคลนกำลังคนในสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม อันเป็นกำลังสำคัญในการผลิตช่างเทคนิคและช่างฝีมือของประเทศ พบว่า การขาดแคลนบุคลากรแขนงนี้มีอยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในภาครัฐจะมีอัตราความต้องการบุคลากรแขนงนี้สูงกว่า จากสภาพการขาดแคลนดังกล่าว ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอมาตรการแก้ไข ๗ ประการ คือ
                    ๑. กำหนดให้สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นสาขาขาดแคลน
                    ๒. ให้เพิ่มการรับนักศึกษาสาขาวิชา ทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
                    ๓. ให้ทบวงมหาวิทยาลัย  สถาบันฝ่ายผลิตและสำนักงบประมาณจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่าย ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยโครงการเพิ่มการผลิตบัณฑิตสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
                    ๔. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรอัตรา กำหนดพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังให้แก่สถาบันฝ่ายผลิตตามเกณฑ์ที่กำหนดได้เป็นกรณีพิเศษ
                    ๕. ให้ดำเนินการจัดสวัสดิการให้อาจารย์ผู้สอนทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้ เหมาะสม และเสมอภาคกับสาขาวิชาที่ขาดแคลนอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์
                    ๖. ให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนางานภาควิชา ครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมเทคโนโลยี จัดตั้งเป็นคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อรองรับโครงการเพิ่มการผลิตบัณฑิต ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
                    ๗. ให้ทบวงมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จัดทำโครงการพัฒนาอาจารย์ สาขาวิชาทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสอดคล้องกับแผนการเพิ่ม การผลิตบัณฑิตตามโครงการ
            ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามาตรการทั้ง ๗ ข้อ และมีมติอนุมัติเมื่อ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

            พ.ศ. ๒๕๓๖ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้ดำเนินการจัดตั้ง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ตามมาตรการที่ ๖ ตามที่ประชุมสภาสถาบันฯ ได้มีมติเห็นชอบในการจัดตั้ง เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยแยกการบริหารงาน ออกจาก คณะวิศวกรรมเทคโนโลยี ดำเนินการเปิดสอน ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม

            พ.ศ. ๒๕๓๗  คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ถือกำเนิดเป็นคณะอย่างสมบูรณ์ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๓๗ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอน พิเศษ ๔๕ ง หน้า ๒๐ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีการแบ่งส่วนราชการ ดังนี้
                    (๑) สำนักงานเลขานุการ
                    (๒) ภาควิชาครุศาสตร์โยธา
                    (๓) ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า
                    (๔) ภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล
                    (๕) ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ
                    (๖) ภาควิชาครุศาสตร์คอมพิวเตอร์
                    (๗) ภาควิชาครุศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
                    (๘) ภาควิชาเทคนิคศึกษา

            พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ย้ายไปเปิดสอนที่ ศูนย์กลางการศึกษา (ศรม.) ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

            พ.ศ. ๒๕๔๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” ขึ้นแทน “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๖๐ ในรัชกาลที่ ๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ หมวดที่ ๑ บททั่วไป มาตรา ๗ ที่กำหนดไว้ว่า ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก

            พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๙ วรรคสอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกประกาศไว้ ข้อ ๒ ให้แบ่งส่วนราชการในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ดังนี้
                    (๑) สํานักงานคณบดี
                    (๒) ภาควิชาการศึกษา
                    (๓) ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
                    (๔) ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

            พ.ศ. ๒๕๕๐ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้เปลี่ยนชื่อจาก “คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี”เป็น “คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม”

            ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (MHSRI) โดยมีการแบ่งส่วนราชการ ดังนี้
                    (๑) สํานักงานคณบดี จัดตั้ง ณ อาคารครุศาสตร์อุตสาหกรรม
                    (๒) ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม จัดตั้ง ณ อาคารครุศาสตร์อุตสาหกรรม
                    (๓) ภาควิชาการศึกษา จัดตั้ง ณ อาคารครุศาสตร์ศึกษา ๑
                    (๔) ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จัดตั้ง ณ อาคารครุศาสตร์ศึกษา ๒