ประวัติความเป็นมา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

35 ปี พัฒนาการคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 โดยมีจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ หมวดที่ 1 บททั่วไป มาตรา 7 ที่กำหนดไว้ว่า ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก
ในปีต่อมา คณะครุศาสตร์เทคโนโลยีได้จัดตั้งขึ้น ตาม กฎกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งส่วนราชการ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549 ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 โดยรวมโครงสร้างส่วนราชการที่ผลิตครูวิชาชีพ 2 แห่ง ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2532 ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยให้คณะครุศาสตร์เทคโนโลยีมีหน้าที่ในการผลิตครูวิชาชีพ นักอุตสาหกรรม นักเทคโนโลยีและนักวิชาการศึกษา ทำการวิจัย บริการวิชาการแก่สังคม รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตามภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา
ในปี พ.ศ. 2550 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กระทรวงศึกษาธิการ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยให้ใช้ “คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม” แทน “คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี” ณ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ในปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการประชุมครั้งที่ 4/2551 เมื่อ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551 มีมติป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2550 วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 ด้วยเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาและดวงจิตของพสกนิกรชาวไทยและต่างประเทศถึงการประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ทรงทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระราชภารกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะและมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่น ด้วยพระราชประสงค์จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นและมีความสุขอย่างมั่นคงต่อเนื่อง ด้วยทรงเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศด้วยการให้การศึกษาแก่พสกนิกร ทรงเป็น “ทูลกระหม่อมอาจารย์” และทรงเป็น “ครู” ที่เป็นต้นแบบแก่บรรดาครูอาจารย์ทั้งปวงถึงการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต พระอัฉริยภาพด้านการศึกษาและพระราชภารกิจในการพัฒนาการศึกษาเป็นที่ยอมรับในวงการนักการศึกษาทั้งในและนานาประเทศ

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาต ให้กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อรางวัล เพื่อมอบให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นในวงการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศในโอกาสที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 เนื่องในวันครูโลก ประจำปี ค.ศ. 2006 ซึ่งได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และในการจัดประชุมครั้งต่อๆไป โดยใช้ชื่อรางวัล ว่า “พระรัตนาจารย์การศึกษา” ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Princess Maha Chakri Award

ชาวครุศาสตร์อุตสาหกรรมทุกคนรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นและของถวายสัตย์ปฏิญญาว่าจะจงรักภักดีและปฏิบัติหน้าที่ตามรอยพระบาทในการพัฒนาการศึกษาของชาติสืบไป

35 ปีของ พัฒนาการจากคณะศึกษาศาสตร์….คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี…สู่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

  • พ.ศ. 2491 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาขึ้น และให้แผนกฝึกหัดครูมัธยมใช้สถานที่ ณ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ
  • พ.ศ. 2496 กรมอาชีวศึกษา ได้ขอซื้อที่ดินจากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเงิน 3,905,000 บาท เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาขึ้น ดังนั้น โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาก็คือจุดกำเนิดของวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา หรือ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาเขตเทเวศร์
  • พ.ศ. 2499 ได้โอนไปสังกัดกรมการฝึกหัดครู เปิดสอนหลักสูตร ป.กศ.อาชีวศึกษา
  • พ.ศ. 2504 ได้โอนกลับมาสังกัดกรมอาชีวศึกษาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา ประกอบด้วย แผนกช่างไม้ครุภัณฑ์ แผนกช่างก่อสร้าง แผนกช่างไฟฟ้า แผนกช่างวิทยุและโทรคมนาคม แผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเชื่อมและโลหะแผ่น และช่างยนต์ ทำการผลิตนักศึกษาหลักสูตร 2 ปี ระดับประกาศนียบัตรฝึกหัดครูอาชีวศึกษา
  • พ.ศ. 2509 ได้ขยายหลักสูตรจาก 2 ปี เป็น 3 ปี
  • พ.ศ. 2518 มีการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เพื่อผลิตจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อยอดให้กับผู้จบอาชีวศึกษารวมทั้งผลิตครูอาชีวศึกษา ซึ่งสัญลักษณ์ของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา คือดอกบัวบาน มีกลีบดอก 8 กลีบ หมายถึงคณะจำนวน 8 คณะ ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะศิลปกรรม คณะวิศวกรรมเทคโนโลยี คณะคหกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะเกษตรศาสตร์บางพระ คณะเกษตรศาสตร์นครศรีธรรมราช

คณะศึกษาศาสตร์ยกฐานะจากแผนกฝึกหัดครูมัธยม และมีที่ตั้ง ณ อาคาร 9 วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ โดยมีการแบ่งส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการ ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษา ภาควิชาบริหารการศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชาการศึกษาให้กับคณะวิชาชีพที่ผลิตครูอาชีวศึกษา ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะคหกรรมศาสตร์ ทั้งนี้คณะเกษตรศาสตร์บางพระและคณะเกษตรศาสตร์นครศรีธรรมราชจัดการเรียนการสอนเองโดยใช้หลักสูตรฯของคณะศึกษาศาสตร์คณะเกษตรศาสตร์บางพระ คณะเกษตรศาสตร์นครศรีธรรมราช

ส่วนคณะวิศวกรรมเทคโนโลยี ซึ่งตั้งอยู่ ณ วิทยาเขตเทเวศร์ จัดการเรียนการสอนสอนระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรมและสาขาวิศวกรรมศาสตร์

  • พ.ศ. 2524 วิทยาเขตเทเวศร์ได้ยุบการผลิตนักศึกษาระดับ ปวส. ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อเร่งรัดผลิตนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
  • พ.ศ. 2534 คณะวิศวกรรมเทคโนโลยีลดการผลิตนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรมลงและเพิ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ตามความต้องการของตลาดแรงงานในขณะนั้น
  • พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้มอบหมายให้ทบวงมหาวิทยาลัยศึกษาลักษณะสภาพการขาดแคลนกำลังคนในสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม อันเป็นกำลังสำคัญในการผลิตช่างเทคนิคและช่างฝีมือของประเทศ พบว่าการขาดแคลนบุคลากรแขนงนี้มีอยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในภาครัฐจะมีอัตราความต้องการบุคลากรแขนงนี้สูงกว่า จากสภาพการขาดแคลนดังกล่าว ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอมาตรการแก้ไข 7 ประการคือ
  1. กำหนดให้สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นสาขาขาดแคลน
  2. ให้เพิ่มการรับนักศึกษาสาขาวิชาทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร-ลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
  3. ให้ทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันฝ่ายผลิตและสำนักงาบประมาณจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่าย ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยโครงการเพิ่มการผลิตบัณฑิตสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
  4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรอัตรา กำลังพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังให้แก่สถาบันฝ่ายผลิต ตามเกณฑ์ที่กำหนดได้เป็นกรณีพิเศษ
  5. ให้ดำเนินการ จัดสวัสดิการให้อาจารย์ผู้สอนทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้เหมาะสม และเสมอภาคกับสาขาวิชาที่ขาดแคลนอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์
  6. ให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนางานภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมเทคโนโลยี จัดตั้งเป็นคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อรองรับโครงการเพิ่มการผลิตบัณฑิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย
  7. ให้ทบวงมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จัดทำโครงการพัฒนาอาจารย์ สาขาวิชาทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตบัณฑิตตามโครงการ

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามาตรการทั้ง 7 ข้อ และมีมติอนุมัติเมื่อ 22 ธันวาคม 2535

  • พ.ศ. 2536 ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้ดำเนินการจัดตั้ง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมตามมาตรการที่ 6 โดยที่ประชุมสภาสถาบันฯ ได้มีมติเห็นชอบในการจัดตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 โดยแยกการบริหารงานออกจากคณะวิศวกรรมเทคโนโลยี เปิดสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
  • พ.ศ. 2537 จัดตั้งคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวง ศึกษาธิการ เรื่องการแบ่งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2537 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอน พิเศษ 45 ง หน้า 20 ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม 2537 โดยมีการแบ่งส่วนราชการ ดังนี้ สำนักงานเลขานุการ ภาควิชาครุศาสตร์โยธา ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า ภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรมสิ่งทอ ภาควิชาครุศาสตร์คอมพิวเตอร์ ภาควิชาครุศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมและภาควิชาเทคนิคศึกษา
  • พ.ศ. 2548 จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
  • พ.ศ. 2549 จัดตั้งคณะครุศาสตร์เทคโนโลยี ขึ้น ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นการรวมโครงสร้างส่วนราชการที่ผลิตครูวิชาชีพ 2 แห่ง ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยให้คณะครุศาสตร์เทคโนโลยีมีหน้าที่ในการผลิตครูวิชาชีพ นักเทคโนโลยีและนักวิชาการศึกษา
  • พ.ศ. 2550 กฎกระทรวงศึกษาธิการฯ พ.ศ. 2550 ให้ใช้ “คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม” แทน “คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี”

ศักยภาพของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตั้งอยู่ ณ 39 หมู่ 1ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110
โทรศัพท์ 0-2549-4700-24
โทรสาร 0-2577-5049
www.teched.rmutt.ac.th
สถานที่ประกอบด้วยอาคารสำนักงานคณบดีและภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม มีพื้นที่ 4,494.40 ตารางเมตร อาคารภาควิชาการศึกษา มีพื้นที่ 202.50 ตารางเมตรและอาคารภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีพื้นที่ 2,337.10 ตารางเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมด 7,304.00 ตารางเมตร

ในปีการศึกษา 2551 มีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 2,712 คน มีอาจารย์ประจำ 102 คน มีคุณวุฒิปริญญาเอก 11 คน กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก 10 คน มีคุณวุฒิปริญญาโท 67 คน และมีคุณวุฒิปริญญาตรี 14 คน โดยมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ 6 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 31 คน และมีตำแหน่งอาจารย์ 31 คน มีบุคลากรสายสนับสนุนรวมทั้งหมด 51 คน
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมได้รับงบประมาณแผ่นดินประมาณปีละ 46,000,000 บาท งบประมาณรายได้ที่มหาวิทยาลัยฯจัดสรรให้ประมาณ 3,200,000 บาท และเงินรายได้อื่นๆจากบริการทางวิชาการแก่สังคมประมาณปีละ 8,000,000 บาท

โครงสร้างการบริหารคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม แบ่งส่วนราชการ เป็น สำนักงานคณบดี ภาควิชาการศึกษา ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาองค์ความรู้และประสิทธิภาพในการบริหารราชการ จึงได้การจัดตั้งส่วนราชการย่อย ดังนี้

ด้านการพัฒนาวิชาการ

ภาควิชาการศึกษา แบ่งเป็น ส่วนราชการย่อย 4 สาขา ได้แก่ สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว สาขาบริหารการศึกษา สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษาและสาขาหลักสูตรและการสอน
ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม แบ่งเป็นส่วนราชการย่อย 7 สาขา ดังนี้ สาขาเทคนิคศึกษา สาขาครุศาสตร์ไฟฟ้า สาขาครุศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สาขาครุศาสตร์คอมพิวเตอร์ สาขาครุศาสตร์เครื่องกล สาขาครุศาสตร์อุตสาหการและสาขาครุศาสตร์โยธา
ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา แบ่งเป็นส่วนราชการย่อย 2 สาขา ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาและสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษา

ด้านการสนับสนุนการศึกษา

สำนักงานคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ประกอบด้วยบุคลากรสายสนับสนุนที่ดำเนินงานภายใต้การบริหารของรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผนและรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา แย่งเป็นส่วนราชการย่อย ดังนี้

  • ฝ่ายวิชาการและวิจัย ประกอบด้วย งานทะเบียนและวัดผล งานเทคโนโลยีทางการศึกษา งานบริการวิชาการ งานห้องสมุด งานวิจัยและประเมินผล งานวิเทศสัมพันธ์ งานสหกิจศึกษา งานเทคโนโลยีสารสนเทศ งานประกันคุณภาพและงานพัฒนาหลักสูตร
  • ฝ่ายบริหารและวางแผน ประกอบด้วย งานสารบรรณ งานการเงิน งานบัญชี งานบุคลากร งานพัสดุ งานเอกสารการพิมพ์ งานอาคารสถานที่และยานพาหนะ งานนโยบายและแผน งานประชาสัมพันธ์และงานกิจการพิเศษ
  • ฝ่ายพัฒนานักศึกษา ประกอบด้วย งานกิจกรรมนักศึกษา งานวินัยและจริยธรรม งานศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม งานกีฬาและนันทนาการ